โปรตีนในเลือดจระเข้

โปรตีนในเลือดจระเข้โปรตีนในเลือดจระเข้ อาจจะเป็นยาปฏิชีวนะตัวใหม่ในการต่อสู้กับแผลเท้าเปื่อย (จากโรคเบาหวาน) แผลไหม้ หรือแผลติดเชื้อดื้อยาอื่นๆ นักชีวเคมีในรัฐหลุยส์เซียนา ได้รายงานการค้นพบในครั้งนี้ในการประชุมครั้งที่ 235 ของ American Chemical Society ว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการวิเคราะห์เลือดของจระเข้ในรายละเอียดเป็นครั้งแรก และได้พบโปรตีนสำคัญๆที่มีฤทธิ์หยุดยั้งการเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด อาทิ แผลติดเชื้อจากยีสต์ Candida albicans ซึ่งพบในผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง

Mark Merchant จาก McNeese State University ผู้ร่วมศึกษากล่าวว่า พวกเขาตื่นเต้นเป็นอย่างมาก ที่พบศักยภาพในการต่อต้านทั้งเชื้อราและแบคทีเรียในเลือดของจระเข้ที่พวกเขาค้นพบ และมันมีความเป็นไปได้ว่า วันหนึ่งเราคงสามารถใช้ยาปฏิชีวนะที่ได้จากเลือดจระเข้ได้ ในการศึกษาก่อนหน้านี้ Mark Merchant พบว่า จระเข้มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรงมากและแตกต่างไปจากคนเรา โดยมันสามารถต่อต้านเชื้อจุลชีพ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อรา ไวรัส หรือแบคทีเรีย โดยที่มันไม่ต้องรับเอาเชื้อเข้าไปต่อสู้กับภูมิคุ้มกันของร่างกายในระดับเซลล์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การที่มันทำอย่างนั้นได้เป็นเรื่องของการปรับตัวและวิวัฒนาการเพื่อให้มันรักษาแผลได้เร็วขึ้น เนื่องจากจระเข้มักจะบาดเจ็บอยู่เสมอเพราะการต่อสู้แย่งเขตแดน ร่วมกับ Kermit Murray และ Lancia Darville จาก Louisiana State University เพื่อนร่วมงาน Mark Merchant ได้เก็บตัวอย่างเลือดจากจระเข้สายพันธุ์พื้นเมือง American alligator จากนั้นพวกเขาได้แยกเซลล์เม็ดเลือดขาว (leucocytes) แล้วสกัดโปรตีนออกมาจากเซลล์เหล่านั้น

ในห้องปฏิบัติการ โปรตีนเหล่านั้นสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น

  1. MRSA (methicillin-resistant Staphylococcus aureus) ซึ่งเป็นเชื้อดื้อยาตัวอันตรายและคร่าชีวิตผู้คนหลายพันคนในแต่ละปี

  2. ฆ่าเชื้อจำพวก Candida albicans ได้ 6 ชนิด (จากทั้งหมด 8 ชนิด) นอกจากนี้ รายงานก่อนหน้านี้ได้กล่าวว่า โปรตีนปฏิชีวนะนี้ยังสามารถฆ่าเชื้อไวรัส HIV ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ได้อีกด้วย

ทีมวิจัยยังคงมุ่งหน้าต่อไปเพื่อดูโครงสร้างทางเคมีของโปรตีนปฏิชีวนะ และจำแนกว่าโปรตีนชนิดใดทำลายเชื้อประเภทใดได้ดีที่สุด พวกเขาคาดว่าโปรตีนปฏิชีวนะในเลือดจระเข้นั้นมีประมาณ 4 ชนิด เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการเช่น โครงสร้างทางเคมีของโปรตีนครบแล้ว นักวิทยาศาสตร์อาจสามารถเริ่มพัฒนาโปรตีนเหล่านี้ ที่ Mark Merchant เรียกว่า alligacin ไปสู่ยาปฏิชีวนะ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ยาเม็ดหรือครีมทาเพื่อรักษาการติดเชื้อ ซึ่งก่อนที่ยาจะวางขายได้คาดว่าอาจจะใช้เวลา 7-10 ปี เขายังได้ทิ้งท้ายอีกว่า แม้เลือดจระเข้จะมีคุณสมบัติดีดังที่ได้กล่าว แต่ท่านก็ไม่ควรเอาเลือดจระเข้มาปรุงยาเสียเอง เพราะท่านจะยิ่งป่วยหนักหรืออาจเสียชีวิตเพราะเชื้อโรคที่มีอยู่ในเลือดจระเข้นั้น

ที่มา:http://www.nsm.or.th