การรักษาและภาวะแทรกซ้อนของโลหิตจาง

การรักษาภาวะโลหิตจาง

ภาวะโลหิตจางมีลักษณะอาการไม่เฉพาะเจาะจงที่บอกได้ชัดเจน จึงจำเป็นต้องทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด การรักษาภาวะโลหิตจางยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของโลหิตจาง สาเหตุการเกิด ระดับความรุนแรง ซึ่งเป้าหมายของการรักษา คือ การเพิ่มความสามารถในการลำเลียงออกซิเจนในร่างกายได้มากขึ้น โดยการรักษาจะประกอบไปด้วย

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและวิตามินเสริม เนื่องจากภาวะโลหิตจางบางประเภทเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารไม่เพียงพอ หรือภาวะบางอย่างจากโรค ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงและวิตามินต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินบี 12 กรดโฟลิก รวมถึงวิตามินซี ที่มีส่วนช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง เครื่องใน อาหารทะเล ผักใบเขียวเข้ม ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ไข่ นม เป็นต้น

รับประทานยาหรือฮอร์โมน ในบางรายแพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางรับประทานยา ฮอร์โมน หรือวิธีทางแพทย์อื่นๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้มากขึ้นหรือรักษาภาวะโลหิตจางจากบางสาเหตุ เช่น

  • รับประทานยาปฏิชีวนะในการรักษาอาการติดเชื้อ

  • การให้ฮอร์โมนบางประเภท เพื่อช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในผู้ที่ประจำเดือนมามากผิดปกติ

  • การฉีดฮอร์โมนอิริโธรโพอิติน เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไขกระดูก

  • การรักษาด้วยวิธีคีเลชั่นบำบัด (Chelation Therapy) เพื่อขับธาตุเหล็กส่วนเกินออกจากร่างกาย

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางรุนแรง แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่ายเลือด การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดและไขกระดูก โดยการนำเซลล์ต้นกำเนิดที่ปกติไปแทนเซลล์ที่มีความผิดปกติ เพื่อช่วยให้การสร้างเม็ดเลือดแดงมีปริมาณมากขึ้น หรือ การผ่าตัด เพื่อช่วยรักษาการเสียเลือดมากในอวัยวะนั้นๆ จากโรคเรื้อรังบางชนิด แต่ในกรณีที่ตรวจไม่พบอาการเลือดออกจากอวัยวะอื่น แต่มีอาการซีดรุนแรงและม้ามโต แพทย์อาจพิจารณาให้ตัดม้ามออก เนื่องจากเกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติในม้าม ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายในปริมาณมาก

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะโลหิตจาง

ภาวะโลหิตจางสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือปล่อยให้เป็นเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่ผิดปกติไป เนื่องจากการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆ ทำได้ไม่ดี จึงเกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น อาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย แผลหายได้ช้า ท้องเสีย เป็นต้น อาการเหล่านี้มักไม่ร้ายแรง

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นภาวะโลหิตจางมีโรคประจำอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อ HIV โรคเอดส์ โรคมะเร็ง อาจส่งผลให้การรักษาของโรคทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนใหม่ได้

บางรายที่มีอาการรุนแรง อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) เนื่องมาจากการทำงานหนักของหัวใจในการส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายมากขึ้น เพื่อชดเชยปริมาณออกซิเจนที่ไม่เพียงพอในเลือดจากจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ จึงทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ อาจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป ซึ่งสามารถนำไปสู่โรคหัวใจโต หรือเกิดอาการหัวใจวายได้

ทั้งนี้ภาวะโลหิตจางจากโรคทางพันธุกรรมบางโรค เช่น โลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย หรือโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ หากมีความผิดปกติระดับรุนแรงมากสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงเสียชีวิตได้